ปัจจุบันคนไทยมีพฤติกรรมการบริโภคผักและผลไม้ในปริมาณต่ำกว่ามาตรฐานที่กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข แนะนำ อันเป็นสาเหตุให้ร่างกายได้รับสารอาหารจำเป็นไม่ครบถ้วนต่อวัน สถาบันสุขภาพนิวทริไลท์จึงร่วมมือกับเอแบคโพลล์ทำการสำรวจ “พฤติกรรมการบริโภคผักผลไม้ของคนไทย” กับประชาชนทั่วประเทศ อายุระหว่าง 18-65 ปี จำนวนทั้งสิ้น 4,295 ตัวอย่าง พบว่า คนไทยเกินครึ่ง 62.3% กินผักผลไม้ไม่เพียงพอต่อปริมาณที่ร่างกายต้องการต่อวัน ยิ่งไปกว่านั้น คนไทยถึง 89% กินผักผลไม้ไม่ครบ 5 สีในแต่ละวัน ทำให้ร่างกายได้รับสารอาหารจำเป็นไม่ครบถ้วน อีกทั้ง 98% ไม่รู้จักไฟโตนิวเทรียนท์
งั้นไฟโตนิวเทรียนท์คืออะไร...
สถาบันสุขภาพนิวทริไลท์ให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ว่า สารอาหารที่จำเป็นต่อร่างกายคนเรา แบ่งได้เป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ 1.แมคโครนิวเทรียนท์ เป็นกลุ่มที่ร่างกายต้องการในปริมาณมาก ให้พลังงานต่อร่างกาย ได้แก่ พวกโปรตีน คาร์โบไฮเดรต ไขมัน 2.ไมโครนิวเทรียนท์ เป็นกลุ่มที่ร่างกายต้องการในปริมาณน้อยแต่ขาดไม่ได้ เช่น พวกวิตามินและเกลือแร่ต่างๆ และ 3.ไฟโตนิวเทรียนท์ เป็นกลุ่มสารอาหารที่ได้จากพืชผักผลไม้ ให้สีสันต่างๆ มีผลช่วยส่งเสริมสุขภาพของมนุษย์ อาทิ สีขาว เช่น หัวหอมใหญ่ เห็ด ช่วยดูแลกระดูก สีส้ม เช่น ส้ม แครอท ช่วยเสริมภูมิต้านทาน สีเขียว เช่น บร็อคโคลี ผักโขม ช่วยให้สายตาดี สีแดง เช่น สตรอว์เบอร์รี่ มะเขือเทศ ช่วยให้หัวใจไม่อ่อนแอ สีม่วง ได้แก่ องุ่นม่วง กะหล่ำปลีม่วง ช่วยให้ความจำดี
ตามคำแนะนำของกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข คนเราควรกินผักผลไม้ให้ได้ 4-6 ทัพพีต่อวัน และควรกินผักผลไม้ให้หลากหลายประเภทและครบ 5 สี คือ สีแดง สีส้ม สีเขียว สีม่วง และสีขาว โดยผลสำรวจชี้ชัดว่าคนไทยกินผักผลไม้เฉลี่ยเพียง 1-3 ทัพพีต่อวัน ที่สำคัญกว่านั้น คือ ในกลุ่มผู้ที่กินผักผลไม้ไม่เพียงพอ ยังมีความเข้าใจผิดคิดว่า ตนเองกินเพียงพอแล้วสูงถึง 50% ทีเดียว โดยสาเหตุหลักที่ทำให้กลุ่มตัวอย่างกินผักและผลไม้ไม่เพียงพอ คือ ไม่มีเวลา (28.7%) เลือกไม่ได้ (27.1%) และไม่ชอบ (25.8%)
อาจารย์สง่า ดามาพงษ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านโภชนาการ ให้คำแนะนำในเรื่องนี้ว่า “คนที่กินผักผลไม้น้อยหรือกินไม่พอจะมีความเสี่ยงสูงต่อการเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง อาทิ โรคอ้วน โรคหัวใจหลอดเลือด โรคความดันโลหิตสูง และโรคมะเร็ง ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้คนไทยและคนทั่วโลกมีอัตราการเจ็บป่วยและเสียชีวิตที่สูงในขณะนี้ เหตุผลดังกล่าวจึงสามารถอธิบายได้ในทางวิทยาศาสตร์ต่อการกินผักผลไม้น้อยแล้วก่อให้เกิดโรค มีเหตุผล 3 ประการคือ 1. คนที่กินผักผลไม้น้อยจะมีโอกาสได้รับสารอาหารวิตามินและเกลือแร่ต่ำ ทำให้ภูมิคุ้มกันต่ำตามมา 2. คนที่กินผักผลไม้น้อยจะมีโอกาสได้ใยอาหารต่ำ ซึ่งจะนำไปสู่การเกิดปัญหาเรื่องการขับถ่ายและการสะสมไขมัน สารพิษ และสารก่อมะเร็งสูงตามไปด้วย และ 3. คนที่กินผักผลไม้น้อยจะมีโอกาสได้ไฟโตนิวเทรียนท์ต่ำ เป็นเหตุให้ร่างกายได้รับสารต้านอนุมูลอิสระต่ำตามไปด้วยเช่นกัน จึงนำไปสู่ความเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งและโรคอื่นๆ ตามมา
วิธีการส่งเสริมให้คนไทยได้กินผักผลไม้อย่างเพียงพอ ต้องเริ่มฝึกนิสัยการกินผักผลไม้ตั้งแต่วัยเด็กอายุ 6 เดือน - 6 ขวบ โดยพ่อแม่เป็นผู้รับผิดชอบ แต่พอเข้าสู่วัยเรียนทางโรงเรียนจะต้องจัดเมนูอาหารกลางวันให้มีผักเป็นองค์ประกอบทุกวัน และจำเป็นต้องมีกิจกรรมการเรียนการสอนเรื่องการกินผักผลไม้ทั้งในและนอกหลักสูตร เป็นต้น ส่วนในวัยทำงานต้องรณรงค์ให้กินผักผลไม้อย่างต่อเนื่องโดยผ่านสื่อทุกรูปแบบ และสร้างสิ่งแวดล้อมให้เอื้อต่อการเปลี่ยนพฤติกรรม ซึ่งปัญหาการไม่กินผักผลไม้ไม่ใช่ปัญหาเล็กน้อย แต่หากปล่อยไว้และไม่ได้รับการแก้ไขจะก่อให้เกิดปัญหาอันยิ่งใหญ่ของสังคมไทยต่อไป”
อาจถึงเวลาแล้วล่ะค่ะ ที่จะหันมากินผักผลไม้อย่างจริงจังในปริมาณที่เพียงพอ และที่สำคัญต้องให้ครบ 5 สีด้วยนะคะ